วันเสาร์ที่ 20 สิงหาคม พ.ศ. 2554

Daily News - Manager Online - ASTV จากผู้จัดการรายวันครับ


Daily News - Manager Online - เอ พศิน... ซูเปอร์ฮีโร่ตัวจริง!

http://www.manager.co.th/Daily/ViewNews.aspx?NewsID=9540000103768

“วายร้าย” ใครๆ ก็เรียกเขาอย่างนั้น เพราะไม่ว่าจะเล่นละครกี่เรื่องๆ เขามักได้รับหน้าที่ทำร้ายและทำลายพระเอก-นางเอกเสมอ จึงมีน้อยคนนักจะรู้ว่าเบื้องหลังหน้ากากตัวร้ายที่เขาสวมใส่นั้น มีซูเปอร์ฮีโร่ตัวจริงซ่อนอยู่!

ครั้งแรกที่รู้ว่า “เอ พศิน เรืองวุฒิ” สะสมฟิกเกอร์ซูเปอร์ฮีโร่อย่างจริงจัง ถึงขั้นสร้างตู้แบบพิเศษขึ้นมาให้ของสะสมทั้งหมดกว่า 200 ตัวได้มีพื้นที่ส่วนตัวโดยเฉพาะ ทีมงานก็นึกสนใจขึ้นมาทันที เพราะภาพความร้ายกาจของเขาที่มักปรากฏตามหน้าจอโทรทัศน์ ช่างขัดกับสิ่งที่สะสมอยู่เสียจริงๆ เราจึงนัดกันเพื่อพูดคุยถึงเรื่องของสะสมเป็นหลัก

ในระหว่างบทสนทนากำลังดำเนินไป เจ้าของฟิกเกอร์หยิบหุ่นพลาสติกตัวเล็กตัวน้อยขึ้นมาอธิบาย โดยไม่ได้ตั้งใจ... คู่สนทนาจึงค่อยๆ เข้าใจว่าแท้จริงแล้วซูเปอร์ฮีโร่ที่เขานำมาโชว์เราในวันนี้ ไม่ได้มีอยู่แค่ในตู้ บนโต๊ะ หรือในมือของผู้สะสมเท่านั้น แต่กลับมีอยู่ในตัวของเขาอย่างเต็มเปี่ยมด้วย



ตามเก็บฝันเมื่อวันวาน
“เริ่มสะสมได้ประมาณสองปีกว่าๆ แล้วครับ แต่จะพูดให้ถูกจริงๆ คือมันเริ่มจากการไม่ได้กะจะสะสมมากกว่า” เอ พศิน ในตอนนี้ไม่เหลือเงาตัวร้ายมาดเข้มที่หลายคนคุ้นเคย เขาเท้าความให้ฟังด้วยน้ำเสียงสุภาพนุ่มหูและรอยยิ้มเป็นกันเองในแบบของเขา


“ตอนนั้นไปเดินห้างห้างหนึ่ง แล้วเห็นตัวที่ชื่อ “ไรเดอร์คาบูโตะ” มันเซลส์อยู่ 50 เปอร์เซ็นต์ก็เลยซื้อมา เพราะปกติเวลาใช้เงิน ผมจะค่อนข้างคิดเยอะ แต่พอ ซื้อตัวแรกมา ตัวที่สองที่สามก็ตามมาเอง (ยิ้ม) เวลาผมถ่ายละครเสร็จ ทำงานสักงานหนึ่งแล้วได้ค่าตัวมา ผมก็จะแวะไปซื้อพวกนี้ก่อนเลย ผ่านไปประมาณเดือนหนึ่งได้ประมาณสิบกว่าตัว เริ่มเยอะแล้ว ทีนี้ยังไงดีล่ะ กลัวฝุ่นเกาะด้วยก็เลยต้องสั่งทำตู้ขึ้นมา แล้วพอเริ่มมีตู้ให้วาง จากตู้ชั้นเดียวก็เริ่มเป็นตู้สองชั้นสามชั้นสี่ชั้น จากมีตัวเดียวก็มี 200 กว่าตัวแล้วตอนนี้ ซึ่งเป็นซอฟต์ฟิกเกอร์หมดเลย”






จริงๆ แล้วฟิกเกอร์มีหลายแบบ ทำจากวัสดุต่างชนิดกัน แต่ที่เอเลือกสะสมประเภทซอฟต์ฟิกเกอร์อย่างเดียว เขาให้เหตุผลว่า “ที่เรียกว่าซอฟต์เพราะตัวมันนิ่มครับ จริงๆ แล้วเขาผลิตมาเพื่อให้เด็กเล่น แต่ผมชอบเพราะมันทนดี ตกแล้วไม่แตกด้วย ที่สำคัญคือดีเทลทุกอย่างมันเหมือนจริงมาก พวกไอ้มดแดง พวกยอดมนุษย์อีกหลายๆ ตัว ไซส์ความสูงจะขนาดเท่าๆ กันหมดเลย เอามาเรียงด้วยกันจะดูสวยมาก แล้วราคาก็ไม่สูงมากด้วย มันเป็นโมเดลขนาดสูงไม่เกิน 30 ซม. เขาเรียกกันว่า “ซอฟต์บี้” คนญี่ปุ่นจะเรียกว่า “โซฟูบิ (Sofubi) ส่วนราคาก็ตกประมาณตัวละ 800 เยน”

“ยิ่งเดี๋ยวนี้เทคโนโลยีการผลิตสูงขึ้นยิ่งน่าเก็บครับ ถ้าเทียบกับรุ่นแรกๆ ที่เคยเก็บไว้ สีมันจะหลุดๆ หน่อยเพราะเขาใช้วิธีพ่นสีลงไป แต่หลังๆ จะใช้วิธีเพนต์แล้วก็ใช้สีคุณภาพสูงขึ้น ทำให้ดีเทลเหมือนตัวจริงมากแต่ราคาก็ไม่ได้สูงอะไรมาก” ได้ยินคำอธิบายแบบนี้ ชักเชื่อแล้วว่าเขาคือตัวจริงและอาจได้เป็นนักสะสมตัวยงมาตั้งนานแล้ว ถ้ารู้จักเก็บมาตั้งแต่วัยเด็ก



“ตอนเด็กๆ นี่ของเล่นเต็มบ้านเลย แต่เป็นคนไม่ค่อยรักษาของ การ ที่คนเราได้อะไรมาง่าย ได้มาเยอะๆ มันแอบทำให้เรานิสัยเสีย อย่างผม ผมเล่นละครมาตั้งแต่เด็กๆ ประมาณ 3-4 ขวบ ต้องตื่นตี 4 ตี 5 ไปถ่ายละครบ่อยๆ พ่อแม่ก็เห็นใจ สัญญากับเราว่าปิดกล้องเมื่อไหร่จะซื้อของเล่นให้ ซึ่งราคาแพง เป็นหุ่นทรานสฟอร์เมอร์ต่อกันเป็นตัวใหญ่ๆ แต่พอได้มาเราไม่รักษาของ สุดท้ายก็ต้องให้คนอื่นเขาไป”

“ทุกวันนี้มาคิดๆ ดูยังนึกเสียดายอยู่เลยนะ (หัวเราะ) ถ้าเราเก็บดีๆ ตั้งแต่ตอนนั้น แต่ละตัวคงเป็นตำนานไปแล้ว แต่คิดไปคิดมา เริ่ม สะสมอีกทีตอนโตก็ดีเหมือนกันครับ เหมือนได้กลับไปเก็บความฝันที่เราเคยทำหล่นมาไว้กับตัวอีกที ซึ่งเป็นวันที่เราเห็นคุณค่าของของแล้ว” เอไม่ได้พูดเรื่องความรัก แต่กลับทำให้สัมผัสได้ว่าเขาเป็นผู้ชายที่โรแมนติกไม่หยอกเลยทีเดียว



ทุกตัวเหมือนเพื่อนสนิท
หลายครั้งที่เห็นนัก สะสมมีของในครอบครองจำนวนมาก ชวนให้คิดไปว่าพวกเขาจะมีเวลามองดูสิ่งของในตู้ของตัวเองบ่อยแค่ไหน บางทีอาจลายตาจนมองไม่ครบเสียด้วยซ้ำ ความสงสัยนี้จึงกลายเป็นคำถามและนำไปสู่คำตอบจากตัวแทนนักสะสมที่นั่งอยู่ตรงหน้าตอนนี้


“มันทำให้เราอารมณ์ดีครับ มันแปลกเหมือนกันนะ” เขายิ้มและมองไปทางอื่น คล้ายกำลังคิดถึงความสุขที่อยู่ในตู้ไม้ของตัวเอง


“บางทีแค่นั่งมองตู้ของเล่น เราก็รู้สึกพอใจแล้ว แปลกดีเหมือนกัน (พูดไปยิ้มไป) นั่งมองแล้วก็ยิ้ม เพราะเรารู้หมดว่าตัวนี้มันชื่ออะไร มีเรื่องราวยังไง เรารู้จักเขาหมดทุกตัว ไม่ใช่แค่ซื้อมาเก็บไว้เฉยๆ แต่ซื้อเพราะชอบ"
"อย่างไอ้มดแดง ผมก็ดูทุกภาค ไปตามหาดีวีดีมาดูย้อนหลังตั้งแต่ภาคแรกๆ ตั้งแต่ก่อนผมจะเกิดอีก เสร็จแล้วก็เก็บข้อมูลมาทำบล็อกของตัวเอง เป็นบล็อกเกี่ยวกับฟิกเกอร์โดยเฉพาะ (http://www.kamenrider-a.blogspot.com) ซึ่งทำแล้วก็สนุกดีครับ เหมือนทำให้เราได้ทำความรู้จักเขามากขึ้น ทำให้รู้ว่าฟิกเกอร์ทุกตัว เขามีการเดินทางของตัวเองนะ แล้วแต่ละคาแร็กเตอร์ก็มีเรื่องราวต่างกันไป”



หนึ่งเหตุผลที่ทำให้เอ เห็นคุณค่าของหุ่นพลาสติกเหล่านี้อย่างมาก เป็นเพราะเขาเรียนจบสาขาออกแบบผลิตภัณฑ์มาจากมหาวิทยาลัยรังสิต และคลุกคลีกับงานออกแบบมาโดยตลอด จึงทำให้รู้ดีว่ากว่าฟิกเกอร์ทุกตัวจะเดินทางมาถึงมือคนซื้อ ต้องผ่านกระบวนการที่ยากลำบากขนาดไหน

“ขั้นตอนการคิด การสร้างเรื่องราว มันเป็นขั้นตอนที่ยากมาก ผมก็เคยออกแบบมาเหมือนกันผมถึงรู้ แค่ปั้นโมเดลให้ออกมาเป็นฟิกเกอร์ที่สวยแบบนี้ก็ยากแล้ว ต้องทำบล็อกก่อน ซึ่งแต่ละส่วนก็มีรายละเอียดเยอะมาก เทียบกับราคาแค่นี้ถือว่าถูกมากแล้วครับ ถูกมากสำหรับที่จะเก็บประวัติศาสตร์ของคาแร็กเตอร์พวกนี้เอาไว้ เพราะแต่ละตัวมีคุณค่าของมันเอง”

เมื่อขอให้ลองยกตัวอย่างตัวละครที่เห็นแล้วรักเลยดูบ้าง เอนิ่งคิดอยู่ไม่นานจึงให้คำตอบ ซึ่งเป็นตัวละครที่หลายต่อหลายคนอาจมองข้ามไป

“บางตัวออกมาไม่กี่ตอนนะ ออกมาแค่ฉากเดียว แต่ดูแล้วให้รู้สึกว่าเขามีความหมายต่อเรื่อง คงคล้ายๆ กับนักแสดงนั่นแหละครับ บางเรื่องเราก็เป็นแค่ตัวประกอบ ไม่ได้เป็นตัวที่สำคัญมาก แต่ถ้านักแสดงคนนั้นสามารถจับคาแร็กเตอร์ไว้ได้ แล้วทำให้คนดูจำเขาได้ ผมว่ามันเจ๋งมากนะ (ยิ้ม)"




"อย่างตัววายร้ายในเรื่องไอ้มดแดงที่เขาเรียกกันว่า “กีกี้” น่ะครับ ตัว “Shocker Soldier” ที่ใส่หน้ากาก ใส่ชุดสีดำ ตัวผอมเก้งก้าง ฉาก หนึ่งวิ่งออกมาพร้อมกันเป็นสิบๆ ตัวเพื่อให้โดนไอ้มดแดงเตะต่อย ตัวนั้นก็กลายเป็นตัวละครคลาสสิกไปเลย เป็นตัวที่โดนซ้อมตลอด ออกมาทีไรก็แพ้ แต่ออกมาแล้วก็เป็นสีสันของเรื่องได้ทุกครั้งเหมือนกัน” และตอนนี้เจ้ากีกี้ก็ได้เป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยสร้างสีสันบนตู้โชว์ของเอเรียบร้อยแล้ว



คุณค่าอยู่ที่การแชร์
เป้าหมายของนักสะสมหลายคนอาจอยู่ที่จำนวน ยิ่งมากเท่าไหร่ยิ่งดี แต่สำหรับผู้ร้ายในจอคนนี้ เขามีคำตอบที่น่าฟังมากกว่า

“การสะสมไม่จำเป็นต้องมีเงิน เยอะๆ หรือต้องสะสมจำนวนมากๆ หรอกผมว่า จริงๆ แล้วแค่มีไม่กี่ตัวก็ได้ แค่มีเพิ่มขึ้นมาตัวเดียว มันก็สามารถเป็นเพื่อนกับอีกไม่กี่ชิ้นที่เรามีอยู่ได้แล้ว แต่ต้องชอบจริงๆ นะ ไม่ใช่ว่าสะสมเพราะว่ามันต้องสะสม มันจะมีคนประเภทที่ต้องซื้อให้ครบเป็นซีรีส์ ถ้าขาดไปตัวหนึ่งจะรู้สึกไม่ Cool ซึ่งมันก็เป็นความรู้สึกส่วนตัวของแต่ละคนแหละ ถ้าใครจะคิดอย่างนั้นก็ไม่ได้ผิดอะไร แต่สำหรับผม ผม ว่าสะสมเมื่อรู้สึกชอบดีกว่า สะสมเมื่อเราสามารถดูแลของเล่นพวกนี้ได้ แล้วที่สำคัญคือต้องพยายามแชร์ประสบการณ์ออกไปให้คนอื่นรู้ด้วยว่ามันรู้สึก ดียังไง”




วิธีการแชร์ที่ว่าคือการแบ่งปัน ความรู้และประสบการณ์ของตนเองผ่านอินเทอร์เน็ต ซึ่งเป็นวิธีที่ไม่ต้องลงทุนอะไรมาก แต่กลับได้มิตรภาพกลับมาอย่างคาดไม่ถึง ส่วนอีกหนึ่งวิธีคือการบริจาค ซึ่งถือเป็นสิ่งสุดท้ายที่นักสะสมส่วนใหญ่จะทำ แต่สำหรับผู้ชายคนนี้แล้ว เขา มองว่าถ้าของมีค่าในมือเขาจะมีค่ามากยิ่งขึ้นเมื่ออยู่ในมือของคนอื่น เขาก็ยินดีส่งผ่านความสุขเหล่านี้ให้คนที่ต้องการโดยไม่นึกเสียดายเลย

“มันจะมีบางอารมณ์เวลา เราไปเห็นของเล่นแล้วนึกถึงคนอื่น บางตัวเราก็ตั้งใจซื้อซ้ำมาเพราะเห็นแล้วคิดว่าอันนี้มันเหมาะกับใครนะ บางทีก็ซื้อเก็บไว้เผื่อมีโอกาสได้ทำการกุศล เราก็จะเอาของเล่นพวกนี้แหละไปให้เด็กๆ คิดว่าน่าจะเป็นของเล่นที่เหมาะกับเขา มันน่าจะทนทาน ไม่ใช่ของเล่นที่ต้องเล่นอย่างทะนุถนอมเพื่อเก็บรักษา อีกอย่างคงเป็นเพราะตอนนี้ปริมาณมันมากพอที่จะแบ่งปันให้คนอื่นบ้างแล้วด้วย มั้งครับ ถ้ามีตัวไหนที่เรารู้สึกว่ามีคนที่เหมาะและชอบมากกว่า เราก็จะให้เขา ถึงมันจะมีแค่ตัวเดียว ไม่ได้ซื้อมาซ้ำ”


ไม่รู้สึกเสียดายบ้างหรือ? ผู้ถูกถามหันมายิ้มแล้วตอบว่า “คน ที่สะสมส่วนใหญ่ เมื่อได้เป็นเจ้าของก็จะหมดความอยาก มันก็เลยต้องถึงเวลาเปลี่ยนมือครับ ยิ่งเวลาเห็นคนที่เขาอยากได้จริงๆ เราก็ยิ่งอยากให้” เช่นเดียวกับที่ครั้งหนึ่งเขาเคยบริจาคของสะสมราคาสูงให้แก่เด็กๆ ในวันของพวกเขา



“มีครั้งหนึ่งตอนวันเด็ก ผมให้เสื้อไป เป็นเสื้อไอ้มดเขียว V3 อิมพอร์ตมาจากญี่ปุ่น ใส่ แล้วจะเหมือนใส่เข็มขัดและมีผ้าคลุมในตัว แปลงร่างเป็นไอ้มดเขียวได้เลย ผมเคยใส่ไปกองละครครั้งหนึ่งแล้วก็โดนทักตลอด ซึ่งผมก็ชอบนะ (หัวเราะ) แต่เราก็ไม่สามารถใส่ได้บ่อย เลยคิดว่าถ้า เป็นเด็กเนี่ย เขาน่าจะใส่ได้ทุกวัน แล้วถ้าได้เห็นเขาใส่เราคงรู้สึกดี เวลาเขาใส่เขาคงภูมิใจที่ได้เป็นไอ้มดเขียว น่าจะเป็นวิธีที่ดีที่ทำให้เขามีความสุขที่ได้เป็นยอดมนุษย์”

เอบอกว่าความรู้สึกรักที่จะเป็นยอดมนุษย์คือสิ่งที่ควรปลูกฝังให้เด็กทุกคนโดยให้เหตุผลว่า “ถ้าเป็นไปได้ เด็กไม่ควรโตมากับความคิดเรื่องสะสมทอง สะสมนาฬิกา หรือของแพงๆ มันทำให้เขาเห็นเรื่องมูลค่าสำคัญกว่าคุณค่า ผมอยากให้เขาโตมาพร้อมการสะสมยอดมนุษย์มากกว่า เพราะความเป็นฮีโร่มันสร้างสรรค์สังคม ถ้า เด็กมัวแต่อยากได้สิ่งของที่ผู้ใหญ่อยากจะมี ความเป็นวีรบุรุษในตัวเขาคงไม่ได้แสดงออกมา เขาคงไม่อยากช่วยเหลือคนอื่น หรืออาจจะทำให้เขากลายเป็นคนจมไม่ลงตอนโตก็ได้”



“ผมยังเด็กอยู่จริงๆ”
การ์ตูนกับเด็กเป็นของคู่กัน แต่เมื่อผู้ใหญ่หันมาสะสมตัวการ์ตูน จึงอาจถูกหลายคนมองว่าทำตัวเด็กเกินวัย หรือร้ายกว่านั้นอาจถูกกล่าวหาว่าไม่รู้จักโต สำหรับคนรักหุ่นการ์ตูนอย่างเอแล้ว เขาพร้อมยิ้มรับความคิดเห็นเหล่านี้ด้วยความภาคภูมิใจ... ภูมิใจในความเป็นเด็กของตัวเอง


“เขาควรคิดแบบนั้นแล้วล่ะครับ เพราะพวกเราก็เด็กจริงๆ (ยิ้ม) ซึ่งผมคิดว่าทุกคนควรมีความเป็นเด็กในตัวนะ จะได้ไม่หยุดฝัน เพราะความฝันทั้งหมดมันเกิดขึ้นตอนที่เรายังเป็นเด็ก เพราะฉะนั้นใครจะว่าผมยังเด็กอยู่ ผมก็ภูมิใจนะ แต่ผมเป็นห่วงคนที่ไม่มีความฝันมากกว่า คน ที่ไม่มีความฝันคือคนเห็นแก่ตัว คนที่รักตัวเอง คิดแต่จะกอบโกยทุกอย่างเข้าหาตัวเอง แต่คนที่มีความฝันคือคนที่สร้างสรรค์เพื่อให้คนอื่นได้ประโยชน์ด้วย ซึ่งน่าภูมิใจกว่ากันอีก”



ถ้าลองเข้าไปแวะเวียนดูภาพของเอในเฟซบุ๊กจะเห็นว่าเขายังกล้าถ่ายภาพหลายๆ ภาพเพื่อปลดปล่อยความเป็นเด็กในตัวเองอย่างที่พูดจริงๆ ทั้งการ ถ่ายรูปคู่กับการ์ตูนในสถานที่ต่างๆ รวมถึงท่าปล่อยพลังเลียนแบบซูเปอร์ฮีโร่ที่ทำเป็นกิจวัตร ถามว่าจะยังกล้าทำแบบนี้ต่อไปหรือเปล่าตอนอายุ 50 ปี ตัวร้ายหน้าหล่อตอบแบบไม่ต้องคิดว่า “ผมว่าผมทำ”

“ผมคงทำแบบนี้จนเป็นลุงนู่นแหละ (หัวเราะ) ถ้าวันหนึ่งผมมีลูกมีหลาน ผมก็จะให้เขามาดูว่าเมื่อก่อนผมเป็นยังไง และวันนี้ ถึงอายุ 50-60 แล้ว ผม ก็ยังเป็นอย่างนั้นอยู่ แล้วดูสิว่าชีวิตผมเป็นยังไง ชีวิตผมมีความสุขไหม เทียบกับคนในวัยเดียวกันดู ใครจะแก่กว่ากัน (ยิ้ม) หรือผมจะดูอ่อนเยาว์กว่าโดยที่ผมไม่ได้โบท็อกซ์ เพราะต่อ ให้เราหน้าเหี่ยวยังไง เราก็ยังรู้สึกว่าเรามีพลัง เรามีความฝัน คนที่ทิ้งความฝันคือคนที่แก่และพร้อมจะตาย แต่ผมพร้อมที่จะมีชีวิตอยู่กับความฝันครับ” เสียงของเขาหนักแน่นชัดเจน



ตัวร้าย = คนดี
ตัวจริงชื่นชมความเป็นซูเปอร์ฮีโร่ แต่ในละครกลับได้รับบทตัวร้ายอยู่เสมอ ถาม ว่าจริงๆ แล้วรู้สึกขัดใจบ้างไหมที่ไม่ค่อยมีใครเปิดโอกาสให้ได้แสดงความเป็นฮีโร่ หรือความเป็นพระเอกในตัวออกมา เอส่ายหน้าเบาๆ และให้เหตุผลในมุมที่ต่างออกไป เขาบอกว่าแท้จริงแล้วบทตัวร้ายต่างหากที่ช่วยให้ได้แสดงความเป็นฮีโร่ในตัวออกมาได้อย่างสมบูรณ์แบบ

“บท ตัวร้ายต้องให้คนดีเล่นครับ (ยิ้มขี้เล่นและหัวเราะตบท้ายเบาๆ) เพราะว่าถ้าเอาคนไม่ดีมาเล่นบทตัวร้าย เป็นคนที่นิสัยไม่ดีเป็นพื้นฐาน เขาจะไม่เซฟพระเอกนางเอก ซึ่งเวลามีฉากต่อสู้หรือฉากตบตี ฉากที่ต้องใช้กำลัง จะอันตรายมาก ผมว่าคนที่จะเล่นเป็นตัวร้ายได้ ต้องรู้จักควบคุมตัวเองให้ได้ ต้องเซฟนักแสดงร่วม เพราะฉะนั้นนักแสดงที่รับบทร้ายส่วนใหญ่จะเป็นคนที่โอเคนะ เท่าที่ผมเห็น”



“การแสดงบทร้ายมันเหมือนการล้างบาป เหมือนการฟอร์แมตตัวเองให้รู้จักเอาด้านลบออกมาใช้ พอได้ปลดปล่อยปุ๊บ ความรู้สึกก็จะหมดไป เพราะฉะนั้นนักแสดงที่รับเล่นบทร้ายส่วนใหญ่จึงดูสุขุม บางคนชอบนั่งสมาธิด้วยซ้ำ อย่างคุณเจสัน ยัง หรือคุณกิ๊ก มยุริญ ตัวจริงเขาเข้าวัดเข้าวากันจริงจังมาก"
"แต่ในทางกลับกัน เวลา เล่นบทคนดีหรือเป็นพระเอก มักจะถูกควบคุมให้อยู่ในสีขาว แทบจะไม่สามารถเอาความรู้สึกด้านลบออกมาใช้ได้เลย ทั้งที่ความจริงแล้วคนเราทุกคนต้องมีด้านมืดในตัวอยู่แล้ว ผมก็เลยชอบเล่นบทตัวร้ายมากกว่า รู้สึกว่ามันสนุกกว่า ลองดูสิครับว่าถ้าละครเรื่องไหนไม่มีตัวร้าย สนุกไหม?” คำถามนี้มีเพียงรอยยิ้มเป็นคำตอบ

เช่นเดียวกับยอดมนุษย์ ที่เขาชื่นชอบ ฮีโร่หลายตัวไม่ได้มีแค่ด้านขาวสะอาดเพียงอย่างเดียว แต่หลายต่อหลายครั้งต้องต่อสู้กับด้านมืดของตัวเองด้วย และนั่นคือเสน่ห์ของด้านร้ายๆ ที่เอบอกว่าเป็นจุดสำคัญที่ทำให้ได้เห็นคุณค่าของความดี



“ยอดมนุษย์ทุกวันนี้ไม่ได้ขาวไปหมดนะ ตอนนี้มีดาร์คฮีโร่ด้วย อย่างแบตแมนก็ยังมีตอนที่ถูกครอบงำ หรือไอ้มดแดงก็มีภาคที่มีมารเข้าสิง เรื่องอุลตร้าแมนก็มีตัว “โกโมล่า” ที่สู้กับอุลตร้าแมน เขาจะแสดงออกสลับกันไป เดี๋ยวร้ายเดี๋ยวดี ไม่ ได้เป็นสีขาวหรือดำแค่อย่างเดียวแล้ว ทุกวันนี้เรื่องราวของฮีโร่พัฒนามากขึ้น ใส่ความเป็นจริงเข้าไปมากขึ้น ให้เหตุผลหมดว่าทำไมเขาถึงเป็นแบบนี้"
"อย่างสไปเดอร์แมนภาคหลัง ชุดสีแดงยังกลายเป็นสีดำเลย เพราะถูกความชั่วร้ายครอบงำ ต้องขายพิซซ่า อยู่อย่างจนๆ ปากกัดตีนถีบทั้งที่เป็นฮีโร่ มันมีด้านที่ไม่สวยงามนำเสนออยู่ด้วย เพื่อให้คนดูเข้าใจว่าการเป็นวีรบุรุษมันไม่ใช่เรื่องง่ายๆ แต่ก็ควรค่าที่จะเป็น”



เราทุกคนคือซูเปอร์แมน!
ถ้าเลือกได้ อยากเป็นซูเปอร์ฮีโร่ตัวไหนมากที่สุด? เอเอื้อมไปหยิบฟิกเกอร์พลาสติกตัวโตขึ้นมาไว้ในมือแล้วเอ่ยชื่อเขา
“ซูเปอร์แมนครับ... ผมชอบซูเปอร์แมนตรงที่เขาเป็นในแบบที่คนไม่ได้เป็น มีใครใช้ชีวิตแบบนี้ได้บ้างแล้วคนบอกว่าเท่ ไม่มีหรอกครับ เขา บินได้ เขามีพลัง มีความสามารถ แต่เขาต้องปกปิดตัวเองเพื่อที่จะยังประโยชน์ให้แก่สังคม เป็นคนที่ไม่ร่ำรวย แต่แอบช่วยเหลือคนอื่น เขาคือต้นแบบของการปิดท้องหลังพระตัวจริง” เขาชี้นิ้วไปที่สุดยอดฮีโร่ที่กำลังพูดถึง แล้วจึงเริ่มแสดงความคิดเห็น

“อย่างที่พระเจ้าอยู่หัวตรัสไว้ว่าเราต้องปิดทองหลังพระ เพราะอะไร... เพราะคนที่ทำประโยชน์เพื่อเอาหน้ามันมีเยอะมากแล้วในสังคม ถามว่าปิดทองหลังพระทำแล้วมีคนเห็นไหม มีนะครับ คนข้างหน้าไม่เห็น แต่ข้างหลังเห็น คนที่อยู่สูงกว่าเราก็เห็น ซ้ายขวาก็เห็น เว้นข้างหน้าเราอย่างเดียว แล้วเราจะแคร์อะไร ไม่ต้องแคร์หรอกครับ พระ เทพฯ ตรัสว่าถ้าทำความดีต่อไปเรื่อยๆ จนความดีมันล้นออกมาข้างหน้า คนเขาจะเห็นเอง ในขณะที่บางคนเลือกปิดทองข้างหน้าอย่างเดียว เห็นได้แค่ด้านเดียว”

มีมากกว่าหนึ่งเหตุผลแน่นอนที่ทำให้เขาอยากเป็นซูเปอร์แมน และเหตุผลสำคัญอีกข้อหนึ่งก็คือ “เพราะผมเชื่อว่าทุกคนมีความเป็นซูเปอร์แมนอยู่ในตัวอยู่แล้วครับ”

“ทั้งพ่อผม แม่ผม ตัวผมเอง หรือใครก็ตามที่ทำความดี เราจะเป็นซูเปอร์แมนได้เอง คือความเป็นแมนมันจะปรากฏออกมา แค่ช่วยเหลือคนเล็กๆ น้อยๆ มันก็คือความดีแล้ว และถ้าคุณทำหน้าที่ของคุณได้ดี มีความรับผิดชอบ คุณก็เป็นซูเปอร์แมนได้เหมือนกัน อย่างตอนนี้เวลาผมทำงาน ผมจะตรงต่อเวลา รับผิดชอบต่อหน้าที่เท่าที่อาชีพของผมจะทำได้ แล้วก็ไม่ทำให้ใครเดือดร้อน ไม่เบียดเบียนผู้อื่น อันนี้คือซูเปอร์ของผมแล้วล่ะ” ซูเปอร์แมนเอยิ้มกว้างอย่างพอใจ

--- ล้อมกรอบ ---



Superman's not easy
ในเฟซบุ๊กส่วนตัวของเขา มีอัลบั้มหนึ่งตั้งชื่อว่า “Superman (It's not easy)” แปลว่าการเป็นซูเปอร์แมนไม่ใช่เรื่องง่ายๆ ซึ่งภาพในอัลบั้มนี้ล้วนแต่เป็นภาพที่ถ่ายขึ้นจากจินตนาการ เป็นภาพในมุมมองแปลกๆ เพื่อส่งต่อเรื่องยากๆ ในการเป็นซูเปอร์แมนให้คนอื่นได้รับรู้

“มันเริ่มจากเพลง “Superman (It's not easy)” ของ Five for fighting ครับ เนื้อเพลงจะบอกถึงคาแร็กเตอร์ของซูเปอร์ แมนว่าฉันไม่ใช่แค่คนที่ใส่กางเกงในไว้ข้างนอก ไม่ใช่แค่คนที่บินได้เร็ว และไม่ใช่แค่คนที่มีพลังวิเศษ แต่การเป็นฉันนั้นมันยาก ไม่ใช่เรื่องง่ายเลยที่จะเป็นซูเปอร์แมน ถ้าเปรียบกับเรื่องการเมืองก็คือ การที่จะเป็นนักการเมืองน้ำดีมันก็ไม่ใช่เรื่องง่าย ในเมื่อคุณมีอำนาจแล้วคุณจะใช้ยังไง?” คำถามนี้... น่าคิด



แท้หรือปลอม ดูที่ไหน?
ถ้าจะหันมาสะสมฟิกเกอร์อย่างเอบ้าง อันดับแรกต้องรู้แหล่งซื้อขาย โดยเจ้าตัวแนะนำร้านละแวกสะพานเหล็กชื่อ “ภิรมย์พลาซ่า” และ “สะพานเหล็กสแควร์” ส่วนเว็บไซต์ที่ติดตามประจำคือ www.j-hero.com กับ www.modxtoy.com เข้าไปแวะเวียนกันได้ มีกูรูผู้มีน้ำใจพร้อมให้คำแนะนำอยู่เพียบ ส่วนเรื่องการเลือกซื้อ แยกแยะระหว่างของแท้-ของปลอมนั้น เอมีทริกนิดหน่อยมาฝาก

“ดูจากความนิ่มของตัวพลาสติกที่เอามาทำฟิกเกอร์ ความมันวาวของสี สังเกตง่ายๆ ถ้า เป็นของแท้เวลาใช้นิ้วกดลงไป สีมันจะไม่แตก เนี่ยครับ (ใช้นิ้วกดหุ่นฟิกเกอร์ของตัวเองให้ดู) แต่ถ้าไปซื้อที่ร้านก็อย่าไปกดของเขาแรงนะ (ยิ้ม) แล้วก็ดูความละเอียดของเนื้อพลาสติกว่าเป็นยังไง ตรงใต้เท้าจะเห็นลิขสิทธิ์พิมพ์ไว้ ของแท้จะมีปีที่ผลิต ประเทศที่ผลิตด้วย ผมจะชอบหาข้อมูลก่อนไปซื้อครับ โดยเฉพาะหนังสือรวมคอลเลกชันของ ญี่ปุ่น เขาจะมีรายละเอียดหมดเลยครับว่าเซตนี้ออกมากี่ตัว มีตัวอะไรบ้าง ชื่ออะไร ราคาเท่าไหร่ เราก็ไปโหลดมาดู ส่วนเรื่องภาษาก็ใช้โปรแกรมแปลญี่ปุ่นเป็นไทยจากกูเกิลก็ได้ ต้องพยายามหน่อยครับ” เห็นด้วยว่าช่างพยายามจริงๆ



มุมลับของฮีโร่
ฮีโร่ทุกคนมักมีอาชีพลับ มีมุมลึกลับที่คนอื่นไม่เคยรู้ ซึ่งเอก็มีเช่นกัน ตอนนี้เขารับงานออกแบบผลิตภัณฑ์ในฐานะฟรีแลนซ์ วาดภาพการ์ตูนอิงประวัติพระพุทธเจ้า ทั้งยังเป็นคนธรรมะธัมโมอีกด้วย

“ส่วนใหญ่ภาพที่ผมวาดออกมา ถ้าไม่ใช่ภาพยอดมนุษย์ก็จะเป็นภาพเกี่ยวกับศาสนาครับ ส่วน เรื่องเข้าวัด ผมชอบนั่งปฏิบัติเองมากกว่า ไม่มีพระอาจารย์ประจำ เพราะพระอาจารย์ของผมคือพระพุทธเจ้าและหนังสือธรรมะ ในนั้นมีคำสอนของท่าน พระพุทธเจ้าไม่เคยตรัสว่าเราต้องเป็นลูกศิษย์อาจารย์คนไหน แต่ท่านแค่เสนอแนวทางไว้ให้เรารู้จักหยุดคิด หยุดทำ และกำหนดรู้เท่านั้นเอง เราอาจจะไม่ต้องสวดมนต์เป็น อาจจะไม่ต้องท่องอิติปิโสฯ หรือสวดชิณบัญชรก่อนนอนก็ได้ แต่แค่เรารู้จักจัดการกับความคิดตัวเองให้ตัวเองมีความสุข ก็ถือว่าเรามีธรรมะแล้ว”




ข่าวโดย Manager Lite/ASTV ผู้จัดการสุดสัปดาห์
ภาพโดย... อดิศร ฉาบสูงเนิน